เริงซเราะซเร็น

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โจลมะม็วด



พิธีโจลมะม็วดสดๆร้อนครับ 30 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมานี่เอง ญาติของผมป่วยไปอยู่โรงพยาบาลจนหมอให้ออกมาแกนอนติดเสื่อแล้วเราทำทุกวิถีทาง ทั้งนิมนต์พระมาสวดตัดกรรมแล้ว 




       การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นสิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเป็นแล้วก็เสาะแสวงหาหนทางรักษาด้วยวิธีต่างๆจนสุดความสามารถ เพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้น ในสมัยโบราณใช้รักษาด้วยยาสมุนไพรผีบอก เทพบอกผ่านร่างทรง หรือจากการฝัน และการทำพิธีโจลมะม็วดตามความเชื่อของชนเขมรสุรินทร์

โจลมะม็วด
   
     โจลคือเข้า มะม็วดคือ เมอม็อด (ดูทั้งหมดคำเขมรสุรินทร์ ) มีแม่หมอเป็นร่างทรงที่ถูกเลือกโดยเฉพาะจากเทพที่เรียกว่า บ็องบ็วด เพื่อเป็นสื่อกลางในการติดต่อกับเทพต่างๆตามความเชื่อ และวิญญาณทั้งหลายที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ร่างทรงมะม็วดนี้ชาวเขมรสุรินทร์เรียกว่า กรูมะม็วด
     พิธีโจลมะม็วด กรูมะม็วดจะเป็นผู้บอกรายละเอียดเมื่อไปติดต่อให้มาเล่นเพื่อรักษา อาจมีรายละเอียดของสิ่งของประกอบพิธีแตกต่างกันไปตามลักษณะการเจ็บป่วยของคนไข้ แต่โดยทั่วไปแล้วมักมีการปฏิบัติดังนี้

     วันที่ใช้เล่น คือวันอังคารกับวันพฤหัสบดี ถือเป็นวันครู เว้นวันขึ้นและแรม 15 ค่ำ เนื่องจากอัคคนิโรธลงที่เทพารักษ์  เว้นงานบวงสรวง(ในกรณีเล่นเกี่ยวกับกรูกำเนิด) ส่วนการเจ็บป่วยอื่น กรูมะม็วดจะดูวันที่เหมาะสมเอง

     สิ่งของเครื่องบูชาในพิธี (ต้องจัดให้ถูกต้อง หากผิดครูจะเล่นไม่ได้) มีดังนี้
     จวม ถ้าเล่นเกี่ยวกับกรูกำเนิด จะต้องมีสิ่งนี้แต่ถ้าเจ็บป่วยอื่นๆในร่างกาย ไม่ต้องใช้จวมในพิธี
     กรวย๕  (ตรูย ปรัม) ทำด้วยใบตองกรวย มีดอกไม้หรือยอดไม้ใส่ในกรวย เรียกขันธ์ ๕
     หมากพลู ๑ คำ  เทียนบิดเป็นเกลียว ๑ คู่  เทียนขี้ผึ้งพันกันปล่อยยอดให้แยกจากกัน ๑ คู่
     เทียนกลม ๑ คู่ เทียนทำด้วยขี้ผึ้งแท้ ๑ คู่ เทียนไขธรรมดา ๑ คู่ กรวยเอก กรวยโท เงิน ๑ บาท
     ร่ม (เขมรสุรินทร์เรียก ฉัตร) เล็กๆสีแดง ๑ อัน ของประดับรอบจวมคือนกเล็กๆสานจากใบตาลปักไว้รอบจวม มีช้าง ม้า ซึ่งถือเป็นบริวารของเทพและ จวม ๔ จำนวน ๑ จาน นอกจากนี้อาจมีสิ่งอื่นเพิ่มเติมอีกิ

     โรงพิธีและอุปกรณ์ที่ใช้

       โรงปะรำมีเสา ๙ ต้น ใช้ต้นกลางผูก ปะต็วล การโจลมะม็วดจะไม่เล่นบนบ้านเรือน จะต้องทำปะรำพิธีเสมอ ใช้ใบมะพร้าวมุงเป็นหลังคาเพื่อกันแดดและจะมีผ้ากางทำเพดานข้างบน บริเวณที่เข้าทรงเสมอ
เสากลางที่มีปะต็วลผูกไว้ใส่ไก่ต้ม ๑ ตัว ขนม ข้าวต้ม(อันซอม) กรวย ๕ เทียน ๒ เล่ม ด้านล่างที่ติดกับพื้นดิน วางกะเฌอ ใส่ข้าวเปลือก ใบขวานโยน ใส่ข้าวสุกปั้นในรูใบขวาน และวางไข่ไก่ดิบบนข้าวสุกอีกที
โดยมีกรวย ๕ วางบนข้าวเปลือก
     ที่นั่งเข้าทรง ปูฟูกแบบพับครึ่ง มีผ้าขาวปูทับข้างบนอีกชั้นหนึ่ง มีบายศรีปากชามวางซ้ายขวา จวม ๔
ข้าวสาร ๑ จาน เทียนอย่างละ ๑ เล่ม เงิน ๑ บาท และจวมเปร็ยย ๑ คู่(ใช้ต้นกล้วยขนาดเท่าน่อง ยาวประมาณ ๒๕ เซนติเมตร เหลาปลายบนให้แหลม ปักด้วยดอกไม้สีแดง
      ตอก ใช้สำหรับถือเพื่อเข้าทรง ใช้ขันอลูมิเนียมใบใหญ่ ใส่ข้าวสารครึ่งขัน ใบพลู ๓ ใบ หมาก ๑ ลูก
กรวยใส่ข้าวต้ม ๑ คู่ เทียน ๑ คู่ เวลาเข้าทรง จุดเทียนให้สว่าง ปักไว้กลางขันที่ใส่ข้าวสาร แล้วนั่งเพ่งไปยังแสงเทียนนั้น โดยมีเพลงจากคณะดนตรีบรรเลง เพื่อให้เทพมาประทับทรง หรือวิญาณอื่น
      ของอื่นที่ใช้ประกอบมี ดาบ (เขมรสุรินทร์เรียก ดาว)หอก ปืน ผ้านุ่งไหมใส่ถาดวางไว้ข้างๆและบางรายอาจมีเครื่องรางของขลัง เช่น เขี้ยวหมูตัน คตเต่า งาช้าง และอย่างอื่นวางใส่พานไว้
      ภายนอกปะรำจะทำ เป ตั้งไว้ เปนี้ทำด้วยก้านกล้วย ๓ ก้าน เอาไม้เสียบตรงกลาง แยกเชิงข้างล่างเป็นขายัน ๓ มุมส่วนยอดมัดติดกันเสียบดอกไม้สีแดง หรือดอกมะละกอตัวผู้(ละฮ็อง ซัน แหรก)ไว้ตรงกลางที่เสียบไม้นั้น ทำเป็นชั้นสำหรับวางแป้งที่ปั้นเป็นรูปคนป่วย ข้าว แกง ลาบ ก้อย บางรายทำข้าวดำ
(ข้าวสุกคลุกผงถ่าน) ซึ่งเป็นอาหารของผีชั้นต่ำ ผีตายโหง ไข่ไก่สำหรับเสก คลึง (เลี๊ยะ) คนป่วย
      เปอาจทำเป็นคู่ ข้างพื้นดินที่วางเป ใช้กระด้งอีกชั้นหนึ่งรอง มีเป สี่เหลี่ยมเล็กๆ วางไว้ ๑ อัน เพื่อหลอกภูตผีที่ชั่วร้ายให้ออกจากร่างคนป่วยไปกินอาหาร แล้วกำจัดเสีย โดยการ ฟันเป (กาบเป)

     เครื่องดนตรีที่ใช้ในการเล่นโจลมะม็วด
   
      ประกอบด้วย กลองกันตรึม ปี่ไน (เขมรสุรินทร์เรียก ซลัย) ซออู้ (ตรัว) ฉิ่ง กรับ ฉาบ เป็นต้น